โตโยต้า เล็งผลิตแบตอีวี ชาร์จจาก 0-100 ภายใน 10 นาที

โตโยต้า เล็งผลิตแบตอีวี ชาร์จจาก 0-100 ภายใน 10 นาที

โตโยต้า เตรียมแถลงข่าวใหญ่ในต้นปีหน้าถึงความสำเร็จในการพัฒนาแบตเตอรี่ ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบด้วยระยะทางการวิ่งที่ไกลถึง 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง พร้อมระบบการชาร์จจาก 0 ถึง 100% ให้ได้ภายเวลา 10 นาที ด้วยความปลอดภัยสูงสุด จากความสามารถของแบตเตอรี่ชนิดโซลิดสเตท ที่เชื่อว่าจะเป็นอนาคตใหม่ที่ไม่ใช่เพียงแค่โลกของยานยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงโลกของอุตสาหกรรมทั้งหมดอีกด้วย

แม้ว่าก่อนหน้านี้ โตโยต้า ได้เคยตั้งเป้าที่จะเป็นบริษัทแรกที่จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่ติดตั้งด้วยแบตเตอรี่โซลิดสเตท ให้ทันภายในปี 2020 แต่แล้วผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกก็จะได้เปิดตัวรถต้นแบบในปีหน้า ด้วยความสามารถของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่จะวิ่งได้มากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมเดิมถึง 2 เท่าภายใต้เงื่อนไขเดียวกันแต่มีขนาดที่เล็กกว่า

ด้วยการพัฒนาของแบตเตอรี่โซลิดสเตท ที่ภายในได้เปลี่ยนจากการใช้อิเล็กโทรไลต์แบบน้ำของลิเธียมไอออน ให้กลายเป็นอิเล็กโทรไลต์แบบของแข็ง ที่อัดแน่นด้วยประสิทธิภาพในการบรรจุไฟฟ้าได้หนาแน่นยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเพลิงไหม้ ทำให้แบตเตอรี่โซลิดสเตทกลายเป็นทางเลือกที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งโลกที่ต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด

ทั้งนี้โตโยต้าครองตำแหน่งผู้นำสูงสุดของโลกด้วยสิทธิบัตรมากกว่า 1,000 รายการที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่โซลิดสเตท ขณะที่ Nissan Motor ก็ได้เตรียมวางแผนที่จะพัฒนาแบตเตอรี่โซลิดสเตทของตัวเอง ซึ่งจะให้พลังงานกับรถยนต์จริงๆที่ไม่ใช่เพียงแค่ต้นแบบได้ภายในปี 2571

การแข่งขันพัฒนาแบตเตอรี่โซลิดสเตท

ผู้ผลิตวัสดุรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น mitsui mining & smelting co. ltd หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ Mitsui Kinzoku กำลังเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อจะเริ่มสร้างโรงงานนำร่องที่จะผลิตอิเล็กโทรไลต์ที่เป็นของแข็งสำหรับแบตเตอรี่โซลิดสเตท โดยคาดว่าสถานที่ผลิตซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาในจังหวัดไซตามะ จะสามารถผลิตอิเล็กโทรไลต์ที่เป็นของแข็งได้หลายสิบตันต่อปีภายในปีหน้า ซึ่งเพียงพอที่จะตอบสนองต่อคำสั่งซื้อสำหรับรถยนต์ต้นแบบ

ด้านบริษัทน้ำมัน Idemitsu Kosan ก็กำลังติดตั้งอุปกรณ์การผลิตอิเล็กโทรไลต์แบบของแข็งในพื้นที่จังหวัดชิบะ โดยมีเป้าหมายที่จะเริ่มดำเนินการในปีหน้า ขณะที่การผลิตอิเล็กโทรไลต์ที่เป็นแบบของแข็งต้องใช้ซัลไฟด์เพื่อทำให้แข็งตัว อันเป็นลักษณะพิเศษของอุตสาหกรรมโลหะและเคมี ซึ่งบริษัท Sumitomo Chemical ก็กำลังพัฒนาวัสดุชนิดนี้เช่นกัน

ทั้งนี้ผู้ผลิตรายใหญ่ๆในญี่ปุ่นเช่น Sony และ Panasonic ซึ่งถือว่าเป็นผู้บุกเบิกในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ในเชิงพาณิชย์ แต่นับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา คู่แข่งชาวจีนก็เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น โดยบริษัท Contemporary Amperex Technology Co. Limited หรือที่เรียกว่า CATL ซึ่งปัจจุบันเป็นซัพพลายเออร์แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนรายใหญ่ที่สุดในโลกในมณฑลฝูเจี้ยน ขณะที่ Asahi Kasei ของญี่ปุ่นซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นำระดับโลกด้านวัสดุแยกแบตเตอรี่ ก็ถูกช่วงชิงตำแหน่งดังกล่าวไปอยู่ที่ Shanghai Energy เมื่อปีที่ผ่านมา

ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องหันกลับมาสนับสนุนอย่างจริงจังให้มีการพัฒนาแบตเตอรี่โซลิดสเตทในประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของยานยนต์ไฟฟ้าได้ตกไปอยู่กับประเทศจีนหมด หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่ โดยรัฐบาลกำลังรวบรวมเงินทุนประมาณ 2 ล้านล้านเยน (19.2 พันล้านดอลลาร์) เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีการกำจัดคาร์บอน และจะพิจารณาให้เงินทุนในการพัฒนาแบตเตอรี่ใหม่หลายแสนล้านเยนอีกด้วย

เป้าหมายสำคัญคือเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการผลิตจำนวนมากภายในญี่ปุ่น เนื่องจากแบตเตอรี่โซลิดสเตทยังต้องการใช้ธาตุลิเธียม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีปริมาณสำรองทั่วโลกอยู่อย่างจำกัด รัฐบาลจึงจะต้องเข้าช่วยเหลือในการจัดหาวัสดุดังกล่าว

ในส่วนของประเทศฝั่งตะวันตกของโลกอย่าง Volkswagen ของเยอรมนี ก็มีแผนที่จะผลิตแบตเตอรี่โซลิดสเตตในปี 2568 โดยการร่วมทุนกับ บริษัทสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ

ขณะที่กลุ่มเทคโนโลยีจีน QingTao (Kunshan) Energy Development ก็ได้ทุ่มเงินกว่า 1 พันล้านหยวน (153 ล้านดอลลาร์) ในการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่โซลิดสเตตรวมถึงด้านอื่น ๆ ซึ่งการลงทุนจะครอบคลุมระยะเวลา 3 ปีเริ่มตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป