อินเดียเตรียมตัวรับการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หลังมีการประกาศนโยบายส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่ล่าสุด โดยรัฐบาลอินเดียเชื่อมั่นว่านโยบายนี้จะเปิดประตูให้นักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาสร้างฐานการผลิตในอินเดียมากขึ้น พร้อมเปิดตัวโครงการพัฒนาระบบยานยนต์ไฟฟ้า โดยมอบสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจำนวนจำกัดให้กับผู้ผลิตรายใหญ่ระดับโลก พร้อมตั้งเป้าการลงทุนขั้นต่ำอย่างน้อย 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอินเดีย” ราเจช กุมาร ซิงห์ เลขาธิการกรมฯ
“นอกจากนี้ ผู้ผลิตจะต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศให้ได้ 25% ภายในปีที่สาม และเพิ่มเป็น 50% ภายในปีที่ห้า” เขากล่าวเสริม
แม้กระแสข่าวจะให้ความสนใจกับ Tesla เป็นหลัก แต่นายซิงห์ย้ำว่า มาตรการนี้จะสามารถดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติรายอื่นๆ ได้ VinFast ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของเวียดนาม ได้ออกมาประกาศความตั้งใจในการเข้าร่วมโครงการเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีบริษัทอื่นๆ แสดงความสนใจอีกจำนวนหนึ่ง
ขณะที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา VinFast ได้วางรากฐานโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรในรัฐทมิฬนาฑูทางตอนใต้ของอินเดีย บริษัทวางแผนจะลงทุนเบื้องต้น 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดระยะเวลา 5 ปี โดยมีกำลังการผลิตคาดการณ์ที่ 150,000 คันต่อปี
ด้านอีลอน มัสก์ ซีอีโอของ Tesla ได้กล่าวว่าเขา “ตื่นเต้นอย่างยิ่งกับอนาคตของอินเดีย” แต่ไม่นานมานี้เขาได้เลื่อนกำหนดการเดินทางอย่างเป็นทางการ ซึ่งวางแผนไว้ว่าจะเข้าพบนายกรัฐมนตรีนาเรนทรา โมดี โดยอ้างเหตุผลของภาระหน้าที่ที่มีต่อ Tesla อย่างไรก็ตาม ซิงห์ได้เปิดเผยว่าอินเดียยังคงเปิดประตูต้อนรับ Tesla
ขณะที่การแข่งขันในตลาด EV ของอินเดียยังมีไม่มากนัก การเข้ามาของ Tesla จะเป็นการปรับสมดุลให้ตลาดมีความเท่าเทียมมากขึ้น Rajeev Chaba อดีตซีอีโอของ MG Motor India ให้สัมภาษณ์กับ CNBC
แนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง
อ้างอิงจากรายงานของ Counterpoint Research ระบุว่ายอดขาย EV ของอินเดียเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในปี 2566 จากความสนใจของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นและมาตรการส่งเสริมของรัฐบาล คาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นอีก 66% ในปี 2567 และคิดเป็น 4% ของยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมด
ภายในปี 2573 คาดว่า EV จะมีสัดส่วนเกือบหนึ่งในสามของตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของอินเดีย ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งในระยะยาว
นายกรัฐมนตรีโมดีตั้งเป้าหมายให้มีการใช้งาน EV 30% ภายในสิ้นทศวรรษนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ซิงห์มองว่าเป็นจริงได้ “สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ผมมองว่าการคาดการณ์ที่ 15% ถึง 20% น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า แต่ถ้ามองในภาพรวมซึ่งรวมรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ รถสามล้อ และรถสองล้อ ผมเชื่อว่าเราจะสามารถทำได้สูงกว่า 30% อย่างแน่นอน” เขากล่าว
เลขาธิการฯ เสริมว่าการนำ EV มาใช้กับรถสองล้อและสามล้อเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว “เรามีสัดส่วนการใช้ EV กับรถสามล้อมากที่สุดในโลกที่เกือบ 50% ส่วนรถสองล้อมีอยู่ที่ 10-12%”
“สำหรับรถยนต์นั่ง EV ยังมีสัดส่วนแค่ 2% นั่นเป็นสาเหตุที่เราต้องการกระตุ้นตลาดด้วยการออกนโยบายที่จูงใจให้ผู้ผลิตรายใหญ่เข้ามาในตลาดอินเดีย นำรถรุ่นที่ทันสมัยที่สุดและเทคโนโลยีล่าสุดของพวกเขามาด้วย”
ความท้าทายที่อินเดียต้องเผชิญ
อย่างไรก็ตาม ซิงห์ยอมรับว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีชาร์จไฟฟ้าเป็นความท้าทายสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข ปัจจุบันอินเดียมีรถยนต์ EV กว่า 200 คัน ต่อสถานีชาร์จ 1 แห่ง ขณะที่ในสหรัฐมีสัดส่วนราว 20 ต่อ 1 และจีนมีไม่ถึง 10 ต่อ 1
นอกจากนี้ เขายังระบุว่า “ความกังวลเรื่องระยะทาง” ที่ผู้บริโภคกลัวว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะไม่สามารถเดินทางได้ไกลพอตามความต้องการก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องแก้ไข ซึ่งทางรัฐบาลคาดหวังว่าโครงสร้างพื้นฐานของสถานีชาร์จไฟฟ้าจะมีความพร้อมภายใน 2-3 ปีข้างหน้า รวมถึงปัญหาด้านระยะทางก็จะไม่เป็นอุปสรรคในการก้าวสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ