ส.ยานยนต์ไฟฟ้าไทย จับมือ กฟผ. ลุยจัดงานแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ครั้งเเรกในประเทศ

ส.ยานยนต์ไฟฟ้าไทย จับมือ กฟผ. ลุยจัดงานแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ครั้งเเรกในประเทศ

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย พร้อมด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมเเถลงข่าว การจัดงาน การแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต EVAT x EGAT Electric Motorcycle Conversion Contest for Business Opportunity ซึ่งได้มีการจัดขึ้นตั้งเเต่วันที่ 1 – 3 เมษายน พ.ศ. 2565 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา นอกจากนี้ยังมีผู้สนับสนุนการจัดงานเเข่งขันดังกล่าวได้เเก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.), กระทรวงอุตสาหกรรม, การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย, บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ประเทศไทย, บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จํากัด, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัททรู คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน)

เอ็มจี เผยยอดจองอีวีหลังประกาศปรับราคามาตรการรัฐ ทะลุ 3,000 คัน ภายใน 1 สัปดาห์
วอลโว่ ขนทัพรถยนต์ EV สไตล์คูเป้ ครอสโอเวอร์รุ่นใหม่ล่าสุด ในงานมอเตอร์โชว์ 2022

ในการเเข่งขันครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเเข่งขันรวมทั้งสิ้นกว่า 92 ทีม แบ่งเป็นทีมประเภทสถาบันการศึกษา 81 ทีม และเป็นทีมประเภทบุคคลทั่วไป 11 ทีม โดยรูปเเบบการเเข่งขันเเบ่งออกเป็น 2 รอบ ได้เเก่ รอบเเรก เเข่งขันภาคสนามวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2565 และรอบถัดมาเป็นการเเข่งขันภาคสนามรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจัดการเเข่งขันในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565 ชิงรางวัลสูงสุดรวมกว่า 100,000 บาท เเละถ้วยรางวัลชนะเลิศจากนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนรองชนะเลิศอันดับสองจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาทเเละรองชนะเลิศอันดับสามจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า30,000 บาท ส่วนรางวัลพิเศษรางวัลขวัญใจมหาชน จะได้รับรางวัลถ้วยรางวัลจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย

สมศักดิ์ ปรางทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สำหรับการจัดการเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจเเห่งอนาคตในครั้งนี้ กฟผ. เล็งเห็นว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรับรู้ของนักเรียน นักศึกษากับบทบาทยานยนต์ไฟฟ้าที่มีผลกระทบด้านสิ่งเเวดล้อม เศรษฐกิจเเละอุตสาหกรรม รวมถึงต่อยอดเเนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการสร้างโมเดลทางธุรกิจ เเละพัฒนาบุคลากรสายอาชีพด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดเเปลงในประเทศต่อไป”

ด้านสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมฯ กล่าวว่า “ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนโครงการการเเข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดเเปลงเพื่อธุรกิจเเห่งอนาคตจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเเห่งประเทศไทย เเละผู้สนับสนุนทุกๆท่าน ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่นิสิต นักศึกษา เเละประชาชนทั่วไปจะได้เเสดงศักยภาพในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เเละถือเป็นหมุดหมายที่ดี ที่จะช่วยกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ นอกจากนี้เมื่อมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเเล้ว เราอาจได้เห็นธุรกิจเเห่งอนาคตที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นอย่างเเพร่หลาย โดยบุคลากรคนรุ่นใหม่เหล่านี้ที่เป็นกำลังหลักสำคัญอีกด้วย”

ในการเเข่งขันครั้งนี้ ทางคณะกรรมการจัดงานได้จัดสนามการเเข่งขันโดยเเบ่งออกเป็น 10 สถานีหลัก ได้เเก่

สถานีที่ 1 ทดสอบอัตราเร่งของรถ เป็นสถานีที่ผู้เข้าเเข่งขันจะได้รับสัญญาณจากกรรมการให้ขับรถด้วยอัตราเร่งทันทีในระยะทาง 30 เมตร

สถานีที่ 2 รักษาระดับความเร็ว เป็นการทดสอบความเร็วตามความสามารถของรถ โดยให้ผู้ขับขี่รักษาความเร็วก่อนการเบรก ด้วยการรักษาความเร็วเฉลี่ย 20 – 25 กม./ชม. ในระยะทางทดสอบ 50 เมตร

สถานีที่ 3 ทดสอบระยะการเบรก ใช้ความเร็วระดับเดียวกับจุดที่ 2 เเต่มีระยะการตัดสินใจที่ให้เบรกประมาณ 5 เมตร

สถานีที่ 4 ทดสอบการประกอบของรถ จุดมุ่งหมายเพื่อทดสอบการประกอบทางกลของชิ้นส่วน โดยการขับรถวิ่งผ่านลูกระนาด ระยะทาง 50 เมตร เเละผู้ขับขี่ต้องรักษาความเร็วเฉลี่ยที่20-25 กม./ชม.

สถานีที่ 5 ทดสอบบังคับเลี้ยววิ่งอ้อมกรวย ซึ่งจะเป็นการทดสอบโดยมีการวางกรวยในเเนวเส้นตรงกลางถนน ด้วยระยะทาง 50 เมตร เเละผู้ขับขี่ต้องรักษาความเร็ว 15-20 กม./ชม.

สถานีที่ 6 ทดสอบการขึ้นทางลาดชัน เพื่อทดสอบกำลังของรถในการวิ่งขึ้นเนิน ซึ่งผู้ขับขี่ต้องหยุดรถในพื้นที่หยุดรถ เเละเมื่อไดัรับสัญญาณ ต้องขับรถขึ้นเนินให้ได้ทันที โดยผู้ขับขี่ต้องรักษาความเร็วเฉลี่ยที่ 20 – 25 กม./ชม.

สถานีที่ 7 การวิ่งในช่องทางคดเคี้ยวในช่องกรวย เพื่อทดสอบการทรงตัวเเละการบังคับเลี้ยวของการขับรถในช่องกรวยที่มีความกว้างเเต่ละคู่ 1.5 เมตร ด้วยระยะทาง 50 เมตร ในความเร็วเฉลี่ย 15-20 กม./ชม.

สถานีที่ 8 การวิ่งผ่านเนินชะลอความเร็ว ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วจนรถหยุดนิ่ง เป็นการชะลอความเร็วให้รถลดความเร็วก่อนขับขี่ลงเนินที่สูงชัน

สถานีที่ 9 สถานีตรวจวัดพลังงาน ผู้เข้าเเข่งขันต้องขับรถตลอดระยะทางของการเเข่งขันด้วยความเร็วเฉลี่ยที่ 20 กม./ชม. ตั้งเเต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุด โดยวิธีการใช้เครื่องอ่าน RFID

และสถานีสุดท้ายสถานีที่ 10 สถานีตรวจวัดการป้องกันน้ำ เป็นการตรวจวัดความปลอดภัยของอุปกรณ์ทางไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เมื่อต้องขับขี่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง

โดยการเเข่งขันได้สิ้นสุดลงวันที่ 3 เมษายน ทีมที่ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น 7 รางวัลโดยเเบ่งเป็น

กลุ่มที่ 1 ผู้ได้รับรางวัลจากประเภทกลุ่มสถาบันการศึกษา ทั้งหมด 3 รางวัล ได้เเก่ทีม E-TECH-Motorcycle 2021 จากวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้รับถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาพร้อมเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท

รองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้เเก่ทีมวิทยาลัยเทคนิคตราด ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท เเละรองชนะเลิศอันดับสองได้เเก่ทีม BB5 จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบังได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท

ส่วนกลุ่มที่ 2 ผู้ได้รับรางวัลประเภทกลุ่มประชาชนทั่วไป รางวัลชนะเลิศในกลุ่มนี้คือทีม Itimgarage X Crafting lab ได้รับเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

รองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ทีม โมโตอีวี ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท เเละรองชนะเลิศอันดับสองได้เเก่ทีม Pari automotive ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษรางวัลขวัญใจมหาชน ได้เเก่ทีม E-TECH-Motorcycle 2021 จากวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ได้รับถ้วยรางวัลจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย