ส่อง นโยบาย รถยนต์ไฟฟ้า ในไทยก่อนฝันไปกันใหญ่

ส่อง นโยบาย รถยนต์ไฟฟ้า ในไทยก่อนฝันไปกันใหญ่

วันนี้นับเป็นความท้าทายของทั้งภาคเอกชนและภาครัฐในการผลักดันให้อีโคซิสเต็มส์ของ รถยนต์ไฟฟ้า เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เราพูดกันเสมอว่าจะผลักดันให้เกิดการใช้งานภายในปีนั้นปีนี้ ในปริมาณเท่านั้นเท่านี้ แต่สาระสำคัญของการผลักดันให้เกิดสังคมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร และเพ้อฝันไปไกลถึงการผลักดันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค วันนี้เรื่องจริงต้องกลับมาดูที่นโยบายของประเทศไทยว่ามีแรงมากพอหรือยังที่จะสร้างกระแสการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศอย่างจริงจัง เพราะท้ายที่สุดเมื่อสามารถผลักดันให้เกิดกำลังซื้อที่มากพอ ไม่ใช่เพียงแค่ค่ายรถยนต์เท่านั้นที่จะแห่ขนอุปกรณ์เข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถอีวีในไทย แต่ค่ายน้องใหม่อื่น ๆ ก็จะเข้ามาอย่างไม่ขาดสายเช่นกัน

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2562 ที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชงเรื่องให้มีการจัดตั้งบอร์ดอีวี ขึ้นมา เพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพราะกลัวว่า อินโดนีเซียจะแย่งชิงฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไปเสียหมด หากเราไม่มีความพร้อม แน่นอนว่าการเริ่มต้นเป็นเรื่องที่ดี ที่รู้ว่าเทรนด์ของการเปลี่ยนผ่านรถยนต์กำลังจะเกิดขึ้น คลื่นลูกใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมการใช้รถยนต์ทั้งโลกแล้ว แต่วันนี้เวลาผ่านไปกว่า 16 เดือน หลังจากที่บอร์ดอีวีถูกจัดตั้งขึ้นในราวต้นปี 2563 ซึ่งก็น่าจะมีบอร์ดมาได้แล้วกว่า 1 ปี

แต่กระนั้นผลงานที่เห็น และเริ่มรับรู้นโยบายที่ถูกกำหนดออกมาจากคณะกรรมการดังกล่าวนั้น กลับเป็นเรื่องนโยบายการกำกับดูแลและการบังคับใช้ซะเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดมาตรฐานยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าประเภทต่าง การบังคับใช้เรื่องของพลังงานที่กระทบมลพิษ การกำกับดูแลให้หน่วยงานภาครัฐเริ่มต้องใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น หรือแม้กระทั่งการกำหนดอายุรถยนต์ในปัจจุบัน เพื่อบังคับให้ผู้ที่ใช้รถยนต์เก่าต้องจำใจเปลี่ยนรถยนต์นั่นเอง นับเป็นเรื่องที่ไม่ได้ช่วยผลักดันให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่างตรงจุดแต่อย่างใด อีกทั้งเรื่องการออกข้อกำหนดต่างก็ยังมีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านรถยนต์เดิมทำกันอยู่แล้ว งานนี้ดูเหมือนตั้งขึ้นมาเพื่อแย่งอำนาจออกมาคิดและบริหารจัดการเองก็เท่านั้น

และเมื่อมองไปที่ส่วนของการส่งเสริมการลงทุน นั่นก็คือคณะกรรมการบีโอไอ ซึ่งเราก็เห็นว่ามีความพยายามผลักดันเรื่องการส่งเสริมให้ค่ายผู้ผลิตอีวีเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทยกันอย่างครึกคัก ซึ่งแน่นอนว่าเครื่องมือที่บีโอไอจะเลือกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดนั่นก็คือ การให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ เพื่อแลกกับการเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทยเท่านั้น แต่ไม่ได้มองดูว่า การเข้ามาตั้งโรงงานผลิตนั้นมีปัจจัยหลายอย่าง แน่นอนว่าเหตุผลใหญ่ไม่มีใครตั้งโรงงานแรกเพื่อผลิตส่งออกไปยังที่ต่าง ๆ 100% แน่ ๆ และถ้ามองเรื่องกำลังซื้อในประเทศแล้ว การตัดสินใจเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทยก็ดูจะมีความหวังลิบหรี่อยู่พอตัว

เชื่อว่าหลายคนเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วจะเข้าใจว่า กำลังซื้อในประเทศ เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเมื่อเรามองไปที่กำลังซื้อเราจะเห็นว่า ไม่มีแผนการส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแต่อย่างใด อย่าเหมารวมนะครับว่า การบังคับซื้อของหน่วยงานรัฐบางแห่งนั่นคือการกระตุ้น เพราะกำลังซื้อที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นตามกลไกตลาดเป็นหลัก และเมื่อหันกลับมาที่ความพร้อมในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วเราจะเข้าใจว่า ไม่มีอีโคซิสเต็มส์ใดเอื้อให้เกิดการใช้งานได้เลย ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของการชาร์จที่ผมเองก็ยังไม่เชื่อว่า บ้านแต่ละหลังจะมีความพร้อมในการติตดั้งวอลล์ชาร์จ สำหรับเติมพลังงานเองที่บ้านได้ เพราะเอาอย่างในเมือง คนส่วนใหญ่ก็คิดว่าน่าจะอยู่คอนโดกันเป็นหลัก แล้วจะแก้โจทย์นี้กันอย่างไร นี่ซิเป็นปัญหาที่บอร์ดอีวีต้องขบคิด

ขณะที่เมื่อเราขับออกมานอกบ้านแล้ว การนำรถเข้าไปชาร์จ 4-5 ชั่วโมง เป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัยของโมบิลิตี้ หรือความสามารถในการเคลื่อนย้ายอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้หลายคนก็อาจจะแย้งว่า ก็เทคโนโลยีมันยังไม่เอื้อไง แล้วจะให้เอาเทคโนโลยีชาร์จเร็วมาจากไหน ผมเชื่อว่าเราจัดตั้งบอร์ดระดับหัวกะทิของประเทศมาเพื่อการนี้แหล่ะครับ ถ้าชาวบ้านคิดได้แบบนี้แล้ว คณะกรรมการบอร์ดคิดได้เท่ากัน อันนี้น่าคิดว่า เอ๊ะ เราจะมีบอร์ดเอาไว้ทำมะเขือเผาทำไม

เรื่องของการส่งเสริมให้เกิดความต้องการซื้อนั้น เป็นเรื่องที่ทั้งอีโคซิสเต็มส์จะต้องช่วยกันผลักดันอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่ใช่แค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือภาคเอกชนหรือภาครัฐเพียงอย่างเดียว ภาคประชาชนเองก็ต้องเข้าใจในบริบทของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วย วันนี้เริ่มมีการให้ความเข้าใจที่ถูกต้องของการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วหรือยัง? แล้วก็ไม่ใช่บอร์ดนี้หรอกหรือที่ควรจะสร้างแคมเปญหรือออกไอเดีย ให้เกิดการรับรู้เรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกต้อง เพื่อเปลี่ยนแนวคิดของผู้คนเรื่องการใช้ยนตรกรรมใหม่นี้

เราคาดหวังว่าความสามารถของคณะกรรมการบอร์ด จะสามารถคิดออกมาตรการกระตุ้นความพร้อมหรือส่งเสริมให้เกิดความพร้อมในการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ดียิ่งขึ้น แต่ดูเหมือนมานตรการที่ออกมาจะไม่ตรงเป้าเท่าไหร่ กลายเป็นบังคับให้คนจนต้องเสียภาษีการใช้รถยนต์ในอัตราที่แพงขึ้นหากไม่มีเงินซื้อรถใหม่ ซึ่งเมื่อเรามองที่มาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่นยุโรปนั้นมีการส่งเสริมให้เกิดการตั้งสถานีชาร์จเร็ว โดยรัฐเป็นผู้ออกเงินสนับสนุน เพื่อทำให้เกิดความพร้อมมากที่สุดในการสร้างสังคมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า อีกทั้งในมุมของผู้บริโภคมีส่วนลดและสิทธิพิเศษต่างๆมากมายเกิดขึ้น เพื่อทำให้เกิดแรงจูงใจที่มากพอต่อภาคประชาชน

ขณะที่ประเทศไทย กลับมองที่การส่งเสริมให้โรงงานเข้ามาตั้ง ประเคนสิทธิประโยชน์มากมายให้โรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นในประเทศไทย ขณะที่การส่งเสริมกำลังซื้อหดหาย ความสามารถในการพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ ไม่ได้รับบรรยากาศที่ดีเลย ท้ายที่สุดเมื่อแนวคิดของการส่งเสริมถูกบิดเบี้ยว ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าก็จะไม่ต่างจากโครงการรถยนต์คันแรก ที่ท้ายที่สุด ระบบตลาดของรถยนต์ก็บิดเบี้ยว กลไกการตลาดเกิดการบิดเบือนความต้องการทำให้ปริมาณความต้องเพิ่มมากขึ้นแบบเทียม ๆ ทำให้อุตสาหรรมรถยนต์มีความยากลำบากในการสร้างความต้องการต่อเนื่องต่อไป

วันนี้เราเพิ่งเริ่มอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขึ้นบนโลกใบนี้ได้ไม่เท่าไหร่ โอกาสของการที่จะเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของภูมิภาคหรือของโลกต่อไปในตอนาคต น่าจะเป็นเรื่องที่จะต้องวางแผนและใช้หัวคิดให้มากกว่านี้ และที่สำคัญ การมองภาพรวมของอุตสาหกรรมให้ออกก็เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะท้ายที่สุดแล้วโอกาสนั้นก็จะลอยผ่านเราไป และกลับไปสู่ประเทศผู้พัฒนาอีกเช่นเดิม เมื่อทุกอย่างไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาอย่างจริงจังมากพอ