ไทยพร้อมแล้ว นโยบายรถ EV ส่วนเรื่องลดหย่อนภาษี ยังต้องรอ ครม. ต่อไป

ไทยพร้อมแล้ว นโยบายรถ EV ส่วนเรื่องลดหย่อนภาษี ยังต้องรอ ครม. ต่อไป

ปี 2022 นี้เป็นปีที่คาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะเติบอย่างก้าวกระโดด หลังจากค่ายรถยักษ์ใหญ่ทั่วโลก รวมถึงค่ายรถหน้าใหม่ ต่างส่งสัญญาณความพร้อมในการส่งรถ EV เข้าสู่ตลาดแทนรถที่ใช้น้ำมันขับเคลื่อน (รถสันดาป)

สำหรับประเทศไทย การรับรู้เรื่องรถ EV เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น คนเริ่มตื่นตัวและสนใจมากขึ้น แต่สิ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้คนเปลี่ยนไปซื้อรถยนต์ไฟฟ้าหรือก็คือมาตรการด้านภาษี ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม และยังต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ด้าน นโยบายรถ EV ของภาครัฐ ที่เป็นภาพใหญ่ของประเทศไทย มีแผนออกมารูปร่างออกมาให้เห็นแล้วโดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ

นโยบายรถ EV ไทย

สำหรับ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

1.กำหนดทิศทางและเป้าหมายการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง
2.พิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนงานด้าน EV
3.บูรณาการและติดตามประเมินผลการดำเนินงานการพัฒนา EV ให้เป็นรูปธรรม และรายงานผลต่อ ครม.
4.แต่งตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการทำงาน

ไทยพร้อมแล้ว นโยบายรถ EV ส่วนเรื่องลดหย่อนภาษี ยังต้องรอ ครม. ต่อไป

คณะอนุกรรมการ มีหน้าที่ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 4 ด้าน คือ

ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิต EV และชิ้นส่วน

ตั้งแต่การสร้างมาตรฐาน (มอก.) ที่เกี่ยวข้องกับ EV การตั้งศูนย์ทดสอบ EV และยางล้อแห่งชาติ ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ บรรเทาผู้ผลิตรถจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE (Internal Combustion Engine) สู่ EV รวมถึงการรีไซเคิลชิ้นส่วนรถยนต์

ส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV

โดยใช้มาตรการทางภาษี ตั้งแต่ ภาษีป้ายทะเบียนที่มีการประกาศใช้ไปแล้ว ให้ลดภาษีป้ายทะเบียนรถ EV เป็นครึ่งหนึ่งของรถน้ำมัน

“ส่วนภาษีศุลกากร ในเรื่องการของการนำเข้า และ ภาษีสรรพสามิต ในด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันยังไม่มีมติจาก ครม. ให้ประกาศมาตรการอะไรออกมา ซึ่งจะต้องรอต่อไปในทุกวันอังคารที่มีการประชุม ครม. ว่าจะมีมติที่เกี่ยวข้องเข้าหารือกันหรือไม่” รศ.ร.อ.ดร.วีระเชษฐ์ ขันเงิน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กล่าว

สำหรับมาตรการที่ไม่ใช่เรื่องภาษี เป็นเรื่องสิทธิ์การซื้อรถ EV ใหม่ โดยนำรถที่ใช้น้ำมันไปเป็นส่วนลดเพื่อส่งเสริมการใช้รถ EV สนับสนุนให้ภาครัฐใช้รถ EV และสื่อสารเชิงรุกให้ประชาชนเข้าใจ

ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของแบตเตอรี่

เป็นการวางโครงสร้างของจุดชาร์จรถยนต์ EV โดยมีเป้าหมายภายในปี 2568 จะต้องมีจุดชาร์จขั้นต่ำ 2,200 จุด ทั่วประเทศ และในปี 2573 จะต้องมีจุดชาร์จทั้งหมด 12,000 จุด ทั่วประเทศ เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้า 2 ล้านคัน

ด้านสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับจักรยานยนต์ ภายในปี 2568 จะต้องมีจุดเปลี่ยนแบตเตอรี่ 260 จุด และในปี 2573 จะต้องมีจุดเปลี่ยนแบตเตอรี่ 1,450 จุด

นอกจากนี้ยังสนับสนุนแพลตฟอร์มการจัดการโครงข่ายการชาร์จรถ EV อีกด้วย

ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของเชื้อเพลิง

ศึกษาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของเชื้อเพลิงจากน้ำมันไปสู่ไฟฟ้า จากชาวบ้านที่ปลูกพืชพลังงานจะได้รับผลกระทบอย่างไร และเตรียมมาตรการบรรเทาตั้งแต่ปี 2564-2568 ทั้งนี้จะต้องสอดคล้องกับ BCG โมเดล (Bio-Circular-Green Economy)

การผลักดันเป้าหมาย ZEV30@30

สำหรับการผลักดันเป้าหมาย ZEV30@30 คือ การดำเนินนโยบายและสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดประโยชน์และมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4 ด้าน

1.ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือคือการผลิตรถยนต์ BEV (Battery Electric Vehicle) ที่ร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในปี 2573 และรักษาความเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของโลกได้

2.การสนับสนุนผู้ประกอบการหมายเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม แบตเตอรี่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของรถยนต์ไฟฟ้า จะส่งผลให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนล้านบาท

3.ประเทศไทยเป็นแหล่งลงทุนในอนาคตของผู้ประกอบการรายใหม่ ทั้งการผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 3.6 แสนล้านบาท ภายในปี 2573

4.ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ร้อยละ 25 ในปี 2573

นอกจากนี้ยังเกิดการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ และส่งเสริมให้เกิดการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ทั้งที่บ้านและในที่สาธารณะ โดยคาดการณ์ว่าจะเป็นการชาร์จจากที่บ้าน 80% ที่ทำงาน 15% และตามสถานีสาธารณะเพียง 5% เท่านั้น

ไทยพร้อมแล้ว นโยบายรถ EV ส่วนเรื่องลดหย่อนภาษี ยังต้องรอ ครม. ต่อไป

ซึ่งหากทำได้ตาม นโยบายรถ EV ที่วางไว้นี้ จะส่งผลให้ประเทศไทยก้าวกระโดดเป็น 10 อันดับแรกของอันดับผู้ผลิต BEV ทั่วโลก และยังสามารถเป็น ZEV hub ของภูมิภาคอาเซียนได้ ภายในปี 2568

และในปี 2573 ตั้งเป้าจะผลิตรถยนต์ ZEV ถึง 725,000 คัน หรือคิดเป็น 30% ของกำลังการผลิตทั่วโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการผลิตและส่งออก BEV และผู้บริโภคได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกลง

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เอ็มจี ประกาศดันระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้า มุ่งพัฒนาและการจัดการแบตฯ ขยายสถานีชาร์จครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประกาศความสำเร็จปี 2564 ปักธงผู้นำด้าน xEV ในไทยด้วยยอดขาย 3,702 คัน